ปัจจุบันนี้การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ ล้วนแล้วแต่ใช้คอนกรีตเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และเนื่องจากคอนกรีตเกิดจากการผสมกันระหว่างปูนซีเมนต์ ทราย หิน และน้ำ จึงทำให้ความแข็งแรงของคอนกรีตขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของส่วนผสมต่างๆ ด้วย โดยปกติแล้ววิศวกรหรือช่างผู้ชำนาญงานจะคำนวณอัตราส่วนในการผสมคอนกรีตมาให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่วนผสมของโครงสร้างนั้น ควรผสมให้ได้คอนกรีตที่ข้นที่สุดที่สามารถไหลลงแบบหล่อได้ แต่ช่างปูนส่วนมากมักเลือกผสมคอนกรีตให้ค่อนข้างเหลว เพื่อที่จะไหลลงไปในแบบได้ง่ายๆ จึงทำให้มีน้ำปูนไหลออกมาตามร่องของแบบหล่อ เป็นสาเหตุให้เกิดโพรงในคอนกรีต และทำให้ความแข็งแรงของคอนกรีตลดลง ดังนั้นจึงควรกำชับให้ช่างที่ควบคุมงานก่อสร้างนั้นดูแลการผสมคอนกรีตให้ได้อัตราส่วนตามที่กำหนดอย่างถูกต้องด้วยเพื่อความปลอดภัยและความแข็งแรงทนทานของอาคารที่อยู่อาศัย
เรามักพบบ่อยๆ ว่าพื้นคอนกรีตตามอาคารหรือที่พักอาศัยมีรอยแตกร้าวขึ้น ทำให้ความสวยงามของพื้นคอนกรีตลดน้อยลง โดยหากเราคิดจะซ่อมพื้นคอนกรีตที่แตกร้าวนั้น ก็ควรสังเกตดูว่ารอยร้าวบนพื้นคอนกรีตนั้นลึกมากแค่ไหน และกระทบกับส่วนโครงสร้างการรับน้ำหนักหรือไม่ ถ้ารอยร้าวบนพื้นคอนกรีตนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการรับน้ำหนัก ควรเรียกช่างผู้มีความเชี่ยวชาญชำนาญงานทางด้านพื้นคอนกรีตโดยเฉพาะ มาซ่อมแซมให้จะเหมาะสมกว่า เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดตามมาภายหลัง และช่วยประหยัดงบประมาณในการซ่อมแซม แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับส่วนที่เป็นโครงสร้างนั้น เราสามารถซ่อมแซมด้วยตัวเองได้ไม่ยากมากนัก โดยมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้ ขั้นแรกให้ตรวจสอบหาขอบเขตของพื้นคอนกรีตที่มีรอยร้าวก่อน ด้วยการเทน้ำลงไปในบริเวณพื้นคอนกรีตที่มีรอยร้าวดังกล่าว แล้วใช้แปรงขนแข็งค่อยๆ ปัดให้ทั่วบริเวณ เพื่อตรวจหารอยร้าว เมื่อตรวจสอบรอยร้าวบนพื้นคอนกรีตดีแล้ว ให้สกัดลึกลงไปในร้าวประมาณ 1-2 นิ้ว แล้วปัดเศษฝุ่นที่เราสกัด และเศษต่างๆ ออกจากรอยร้าวให้หมด หลังจากนั้นล้างบริเวณพื้นคอนกรีตนั้นให้สะอาดแล้วทิ้งไว้ซักพักแต่ไม่ต้องรอจนแห้งสนิทมากนัก ระหว่างนี้ให้เราผสมปูน 1 ส่วน ต่อทราย 2 ส่วน อาจเติมหินได้ตามความเหมาะสม แล้วผสมน้ำจนมีความหนืดพอประมาณ และในขณะที่พื้นยังชื้นอยู่นั้นให้ค่อยๆ เทปูนลงในรอยร้าวบนพื้นคอนกรีตให้เต็มรอย กดให้แน่น แล้วใช้เกรียงตกแต่งพื้นผิวให้เรียบร้อย แล้วทิ้งไว้ให้แห้งสนิท จึงค่อยเริ่มใช้งาน
No comments:
Post a Comment